Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

รู้ทัน โรคแพ้นม แพ้อาหาร

25 เม.ย. 2562



   ปัจจุบันพบว่า โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้มากในเด็ก โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากการแพ้โปรตีนนมวัวหรืออาหาร ซึ่งสามารถเกิดได้หลายปัจจัย ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม, การงดทานอาหารหรือทานอาหารชนิดใดมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์, การให้อาหารเสริมเร็วหรือช้าเกินไป เป็นต้น หากได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจะทำให้สามารถหายขาดได้
อาการแบบไหน รีบพบแพทย์..!!

   เกิดขึ้นได้กับอวัยวะหลายๆ ระบบ ส่วนใหญ่แล้วเกิดกับระบบทางเดินอาหาร ระบบผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และทั่วตัว ซึ่งอาการทางระบบทางเดินอาหารและระบบผิวหนังจะพบได้บ่อยกว่า โดยคุณพ่อคุณแม่คอยหมั่นสังเกตอาการที่อาจะเกิดขึ้นกับลูก เช่น

  • ระบบทางเดินอาหาร
    • อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว แบบเฉียบพลันไม่เกิน 2 ชม. หรือ ภายใน 2-24 ชม. หลังรับประทานอาหาร
    • บางรายมาด้วยโรคร้องสามเดือน (Infantile colic)
    • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีมูกหรือเลือดปน อาการขาดสารอาหาร จากการดูดซึมสารอาหารทีผิดปกติจากภาวะแพ้อาหาร
  • ระบบผิวหนัง
    • ผื่นลมพิษ นูนเป็นปื้น อาการบวมที่ตา ริมฝีปาก มีอาการแพ้แบบเฉียบพลัน มักเกิดในเวลาไม่กี่นาทีหรือไม่เกิน 2 ชม. หลังรับประทานอาหารที่แพ้
    • ผื่นสากๆ คันตามบริเวณต่าง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า แก้ม ข้อศอก ข้อพับ เข่า ซอกคอ และตามลำตัว ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์กว่าจะเกิดอาการ
  • ระบบหายใจ
    • น้ำมูกไหล จาม คันตา น้ำตาไหล ไอ แน่นคอ หายใจไม่สะดวก หอบ ฟังปอดได้ยินเสียงวี๊ด
  • อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นอาการที่แพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นได้ทั้งระบบทางเดินอาหาร ผิวหนัง ทางเดินหายใจ และระบบหัวใจหลอดเลือด ซึ่งจะมีอาการอย่างน้อย 2 ระบบ เช่น
    • มีผื่นลมพิษร่วมกับเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หรือ ลมพิษร่วมกับอาการหมดสติจากความดันโลหิตต่ำหรือช็อค หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก บางรายอาจต้องพกยาฉีดกู้ชีวิตฉุกเฉินไว้ตลอดเวลา   

   ทั้งนี้ อาการแสดงของโรคแพ้นมวัว แพ้อาหารในเด็ก อาจขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารและลักษณะอาการที่แพ้ เช่น การแพ้นมวัวแบบลำไส้อักเสบจะดีขึ้นและหายแพ้หลังงดนมวัวอย่างน้อย 1 ปี การแพ้อาหารแบบผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยส่วนใหญ่ประมาณครึ่งหนึ่งจะดีขึ้นและหายจากการแพ้หลังอายุ 3 ปี ส่วนการแพ้อาหารแบบเฉียบพลันมักจะใช้เวลาในการหายช้ากว่าแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการแพ้ถั่วลิสงและอาหารทะเล อาจแพ้เป็นระยะเวลานานหรือแพ้ไปตลอดชีวิตได้            

การทดสอบ...ยืนยันโรค !!

  • จากประวัติ แพทย์จะขอให้จดบันทึกรายการอาหารและระยะเวลาที่เกิดอาการช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย เพราะการเกิดปฏิกิริยาหลังรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น ชนิดของอาหารที่สงสัย ระยะเวลาหลังจากรับประทานอาหารจนเกิดอาการ ความรุนแรงของอาการ ประวัติอาการที่สงสัยแพ้อาหารนั้นๆมาก่อน หรือบางคนมีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ
  • การทำทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) เป็นการทดสอบที่น่าเชื่อถือมากที่สุด โดยเฉพาะการแพ้แบบเฉียบพลัน เพราะสามารถสอดคล้องกับอาการได้ดีและวิธีการตรวจนี้เป็นวิธีที่นิยมที่สุด ต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ทุกชนิดอย่างน้อย 10 วัน ก่อนทำการทดสอบ หรือหากรับประทานยากลุ่มอื่นเป็นประจำต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนัดทำทดสอบเสมอ
  • การเจาะเลือด เพื่อตรวจหาแอนตี้บอดี้ต่ออาหารแต่ละชนิด เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับการทำทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง สำหรับวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการทดสอบทางผิวหนังได้ เช่น คนที่มีประวัติการแพ้อย่างรุนแรง คนที่มีผื่นมากและไม่มีผิวหนังปกติมากพอในการทำทดสอบทางผิวหนัง หรือคนที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสงชนิดรุนแรง (anaphylaxis) ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการทำทดสอบทางผิวหนัง

เข้าใจการรักษา...!!

  • การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้และอาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมของอาหารที่แพ้
  • ต้องอ่านฉลากอาหารให้ชัดเจน หากไม่มั่นใจว่าอาหารชนิดใดมีส่วนประกอบที่แพ้หรือไม่ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • กรณีแพ้รุนแรงต้องพกยากู้ชีวิต (Adrenaline/Epi-pen) ติดตัวไว้เสมอ เพื่อฉีดตนเองยามฉุกเฉิน
  • การรับประทานยาแก้แพ้ โดยไม่หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่หายจากอาการแพ้   

   ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรคแพ้นมวัว แพ้อาหาร จะพบบ่อยมากขึ้นสำหรับเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคแพ้นมวัว แพ้อาหาร ควรรีบพามาหาหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการจะทำให้มีโอกาสหายขาดมาก แต่หากรอและมารับการรักษาช้าเกินไป โอกาสที่จะหายก็น้อยลงและอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้

สนับสนุนข้อมูลโดย : พญ. ธิดารัตน์ พงศ์สิริพิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน 
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.